ครูประณีตฯ สะท้อนความ ประณีตครู...
เขียนโดย ผู้ดูแลระบบ สสค. | 18/09/2557 10:42:58


แนวความคิด ทัศนคติ ตลอดจนวิธีปฏิบัติ ของการทำหน้าที่ครูที่ดีเยี่ยม ได้ถูกถ่ายทอดไว้อย่างละเอียดในหนังสือครูประณีตคิดนอกกรอบ: ยั่วให้นึก ฝึกให้คิด ของครูชาวอเมริกัน “ลูแอนน์ จอห์นสัน” ที่ทาง สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน หรือ สสค. ได้จัดพิมพ์ขึ้น นับเป็นประสบการณ์สำเร็จรูป ที่ผู้อ่านนำไปเป็นแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนให้ประสบผลสำเร็จได้ อีกทั้งความประณีตที่ผู้เขียนได้อธิบายไว้นั้น ยังใช้เป็นแบบอย่างของการทำหน้าที่ครูได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ โดยตรง...
“วิมลศรี ศุษิลวรณ์” หรือ ครูใหม่ ครูสอนภาษาไทยระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนเพลินพัฒนา เป็นผู้หนึ่งที่ได้หยิบยกเนื้อหาจากหนังสือครูประณีตฯ มาใช้กับการเรียนการสอน รวมถึงการทำหน้าที่ครูของตนเอง ถึงแม้เป็นประสบการณ์จากครูฝรั่ง แต่ครูใหม่ก็ปรับให้สอนคล้องกับบริบทของไทยได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น ผ่านหนังสือ “คู่คิด ครูเพลิน” ให้กับเพื่อนครูได้นำไปปฏิบัติอีกด้วย
ครูใหม่เผยความในใจว่า “ก่อนหน้านี้ภาพความเป็นครูสำหรับตนเอง คือ รู้แค่เพียงว่ามีใจมุ่งมั่นอยากเป็นครู ต้องการทำสิ่งดีงามให้กับเด็กๆ ซึ่งเป็นเหมือนอุดมการณ์ที่ตั้งเอาไว้ แต่เมื่อได้อ่านหนังสือครูประณีตฯ ครูลูแอนน์บอกว่า การเป็นครูที่ดี แค่มีใจที่มุ่งมั่นหรือมีอุดมการณ์เพียงอย่างเดียวไม่พอ หากแต่ต้องมีวิธีการด้วย ทำให้เข้าใจและรู้ถึงการเป็นครูที่ดีมากขึ้น”
ครูประณีตฯ ได้ให้ภาพความประณีตของครู ตั้งแต่การแต่งกายก็ต้องประณีต ที่ผ่านมาเข้าใจอยู่แล้วว่าครูต้องแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย แต่ไม่ได้มองละเอียดถึงขั้นที่ว่า เมื่อเข้าไปในห้องเรียนแล้ว ครูเป็นเหมือนดาราหน้าเวที ที่ถูกจับจ้องโดยเด็กๆ อยู่ตลอดเวลา เด็กจะสังเกตสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ของครู และเมื่อภาพของครูประทับไปในความทรงจำของเด็กแล้ว ก็ยากที่จะลบออกได้
“ครูลูแอนน์ได้ฉายภาพดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน พร้อมกับได้ให้รายละเอียดในการปฏิบัติด้วยว่า ภายในตู้เสื้อผ้าของครูควรมีเสื้อผ้าที่สวมสบายใส่เรียบร้อยไว้ล่วงหน้าเป็นสัปดาห์ เพราะในระหว่างนี้อาจมีงานยุ่งถึงขั้นไม่มีเวลาซัก รีด ส่งผลให้บางวันอาจแต่งกายไม่เรียบร้อยได้ การเตรียมตู้เสื้อผ้าประหนึ่งเหมือนการเตรียมกระเป๋าเดินทาง แต่เป็นการเดินทางสู่การสอนที่มีคุณภาพ”
การเตรียมตัว เป็นสิ่งที่ครูลูแอนน์ให้ความสำคัญอย่างมาก ในหนังสือครูประณีตฯ มีข้อแนะนำสำหรับการเตรียมตัวที่น่าสนใจอยู่หลายข้อ เช่น การเตรียมตัวตั้งแต่ก่อนเปิดภาคเรียน เตรียมรายชื่อเด็กที่ต้องสอน พร้อมกับศึกษาประวัติของเด็กแต่ละคน หรือการเตรียมการบ้านสำหรับกลุ่มเด็กที่ไม่มาโรงเรียน ในรายละเอียดเหล่านี้สะท้อนความประณีตของผู้เขียนได้เป็นอย่างดี
หากเปรียบการทำหน้าที่ครู เหมือนการเย็บผ้า ขณะที่ครูส่วนใหญ่ใช้วิธีการเนาเพื่อทำให้เห็นเค้าโครง แต่ครูลูแอนน์ เป็นการเย็บด้วยจักรที่มีความละเอียด พร้อมทั้งมีกระดุม ติดตะขอเพื่อเกาะเกี่ยวรูรั่วอย่างมิดชิด ครูประณีตฯ เป็นการทำให้เห็นภาพความเป็นครูได้ชัดเจน จากเดิมที่เห็นแต่ภาพกว้าง มีเพียงจิตใจที่ต้องการเป็นครูที่ดี ซึ่งจริงๆ แล้วยังไม่เพียงพอ สิ่งไหนที่ควรเพิ่มเติม สิ่งไหนที่อาจละเลยหรือไม่ได้คิดถึง ได้ถูกถ่ายทอดเอาไว้ในหนังสือ
“โดยส่วนตัว ใช้หนังสือครูประณีตฯ เป็นกระจกสะท้อนการทำหน้าที่ครูของตัวเอง คล้ายกับเรารู้ว่าคนนี้ขาว คนนั้นดำ แต่ถ้าจะให้บอกว่าขาวหรือดำกว่ากันเท่าไร ก็ต้องนำมาเทียบกัน ดังนั้นการที่เราจะพัฒนาตัวเอง ต้องมีต้นแบบให้เปรียบเทียบว่าสิ่งที่ทำอยู่เพียงพอหรือยัง แต่ละวิธีที่แนะนำหากนำมาปฏิบัติจะเกิดผลดีอย่างไร เหมือนมีบันไดให้ก้าวตามทีละขั้น การพัฒนาตัวเองก็ง่ายขึ้น”
คู่คิดครูเพลิน... ดำเนินอย่างประณีต
นอกจากใช้ ครูประณีตฯ สะท้อนการทำหน้าที่ของตัวเองแล้ว ครูใหม่ยังได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้ ให้กับเพื่อนครูในโรงเรียนเพลินพัฒนาด้วย แต่การบอกเล่าด้วยตนเอง บางรายละเอียดอาจมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน จึงใช้วิธีการแนะนำหนังสือให้เพื่อนครูได้อ่าน วิธีนี้ก็ช่วยให้เกิดความคิดเห็นที่คล้ายกัน อย่างการแต่งกาย ถ้าไปบอกครูท่านอื่นว่า “วันนี้ครูแต่งไม่เรียบร้อย” แน่นอนว่าทุกคนย่อมรู้สึกไม่ดี แต่ถ้าแนะนำให้อ่านหนังสือครูประณีตฯ ซึ่งได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ ก็ช่วยให้เพื่อนครูมีความเข้าใจตรงกัน
“ที่โรงเรียนเพลินพัฒนา มีวิธีการพัฒนาการสอนที่เรียกว่า KM หรือ การจัดการความรู้เล่าสู่กันฟัง โดยให้ครูแต่ละท่านเล่าถึงวิธีการสอนที่ได้ผลดีหรือช่วยให้การสอนมีประสิทธิภาพ และหนังสือครูประณีตฯ ได้ถูกนำเข้าไปใน KM ด้วย โดยได้แนะนำว่าเป็นชุดความรู้ที่น่าสนใจ พร้อมกับให้ครูได้ทดลองนำไปปฏิบัติ จากนั้นก็นำข้อมูลหรือผลที่ได้มาบอกเล่าและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นซึ่งกันและกัน”
จากเดิมที่มีวิธีการสอนในแบบเพลินพัฒนาอยู่ชุดหนึ่ง แต่พอได้อ่านครูประณีตฯ ก็ได้เห็นรูปแบบการสอนของครูอเมริกาอีกชุดหนึ่ง แต่ทั้งสองชุดต่างก็มีความคล้ายกันที่ มุ่งให้การเรียนรู้ของเด็กมีประสิทธิภาพ และข้อแนะนำหลายอย่างในครูประณีตฯ ก็เป็นสิ่งที่ตนเองและครูในโรงเรียนเพลินพัฒนาปฏิบัติกันอยู่บ้างแล้ว แต่เมื่อได้อ่านจากหนังสือ ก็ยิ่งทำให้มีความประณีตกับสิ่งที่ทำมากขึ้น เพราะเป็นเหมือนการสะท้อนว่า อะไรที่มีอยู่แล้ว หรืออะไรที่ขาดหายไป สิ่งไหนที่ยังไม่ได้ทำและควรเพิ่มเติมตรงส่วนไหน
ครูประณีตฯ เป็นสิ่งที่จะจุดประกายให้ได้คิดและทดลองทำเพื่อนำไปสู่การเรียนการสอนที่มีคุณภาพ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับครูด้วยว่า สิ่งที่แนะนำไว้ในหนังสือ เป็นเรื่องที่เคยทำมาแล้วหรือไม่ ถ้ายังไม่เคยก็เป็นสิ่งใหม่ที่ต้องเรียนรู้ แต่ถ้าเคยทำอยู่แล้ว ก็ช่วยชี้ให้เห็นว่า หากต้องการทำให้ดีกว่าเดิมต้องมีแนวทางอย่างไร กล่าวคือ ครูประณีตฯ ชี้ให้เห็นถึงตัวอย่างที่ดีกว่า ในสิ่งที่เคยทำอยู่และวิธีการพัฒนาไปสู่จุดนั้น แต่ทว่าเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของเพลินพัฒนา จึงได้นำเนื้อหาที่ดีจากครูประณีตฯ มาประสานกับความเป็นเพลินพัฒนา พร้อมสอดแทรกคำสอนของพุทธศาสนา จึงเกิดเป็นหนังสือ “คู่คิดครูเพลิน” ขึ้นมา
“ครูลูแอนน์ ทำให้จินตนาการถึงความเป็นครูในแบบเพลินพัฒนา แต่การสร้างให้ทุกคนมีความคิดในทิศทางเดียวกันทั้งหมด ลำพังการบอกกล่าวเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ เพราะแต่ละคนเมื่อรับสารแล้วมีความคิดความเข้าใจแตกต่างกันไป ที่สำคัญมักหยิบยกเฉพาะประเด็นที่สนใจมาใช้ และส่วนอื่นก็ถูกละเลย แต่เมื่อเขียนออกมาเป็นคู่คิดครูเพลิน ช่วยให้ครูเห็นภาพตรงกัน เกิดความพร้อมเพียงในความคิด ทำให้ครูในแบบเพลินพัฒนามีความชัดเจน”
สำหรับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังจากการนำแนวทางการเรียนการสอนของครูประณีตฯ มาปรับใช้ คือ ช่วยให้เห็นถึงการเรียนรู้ของเด็กชัดเจนขึ้นและได้เห็นการทำหน้าที่ของตัวเอง เมื่อครูเห็นตัวเองแล้วปรับปรุงให้ดีขึ้น ก็ส่งผลให้มีความพร้อมในการเข้าห้องเรียน มีความพร้อมที่จะสอน สิ่งที่ตามมาก็คือ เด็กเรียนรู้ได้ดีขึ้น
ขณะเดียวกัน หากครูไม่พร้อม เช่น ต้องเข้าออกห้องเพื่อหยิบของที่ลืมไว้ เท่ากับเป็นการกระตุ้นให้เด็กเสียสมาธิ ยิ่งเด็กในยุคปัจจุบันที่มีสมาธิสั้นอยู่แล้ว โอกาสที่ไม่เข้าใจในเนื้อหาก็มีสูง ดังนั้นการที่ครูพร้อม ก็ช่วยสร้างความพร้อมให้กับเด็กด้วย ซึ่งวิธีการสร้างความพร้อม มีตัวอย่างที่หลากหลาย อธิบายไว้ในครูประณีตฯ อย่างละเอียด
“สิ่งที่ครูลูแอนน์ได้ถ่ายทอดออกมาทั้งหมดในครูประณีตฯ แม้เป็นเรื่องราวการเรียนการสอนในแบบฝรั่ง แต่ก็ทำให้เห็นถึงหลักของความเป็นครู ที่ไม่ว่าเชื้อชาติไหน พูดภาษาอะไรต่างมีจิตวิญญาณเดียวกัน คือ เมื่อไรก็ตามถ้าหากใช้เด็กและการเรียนรู้เป็นตัวตั้งแล้ว ย่อมมีความสุขจากการทุ่มเทให้กับการสอน และอิ่มเอมใจเมื่อเห็นเด็กได้เรียนรู้...”
ดาวน์โหลดหนังสือได้ที่ คลิก
.......................................................................
จำนวนผู้เข้าชม 4864 คน | จำนวนโหวต 0 ครั้ง
Creative Common License Version 3.0
ผลงานนี้ อยู่ภายใต้ สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 ต้นฉบับ.ข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์สสค. อนุญาตให้เผยแพร่และแจกจ่ายโดยเสรี ซึ่งผู้นำไปใช้ไม่จำเป็นต้องติดต่อจากทางสสค. แต่อย่างใด แต่จำเป็นจะต้องอ้างอิงแหล่งที่มาว่ามาจากสสค.
ความคิดเห็น
กรุณาเข้าสู่ระบบก่อนแสดงความคิดเห็น
ท่านที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิก สสค. โลกแห่งการเรียนรู้ออนไลน์รอคุณอยู่ คลิกที่นี่ เพื่อสมัครสมาชิก สสค.