สสค.เปิดผลศึกษาเส้นทางชีวิตเด็กไทย
เขียนโดย saowalak 01 | 11/09/2556 14:50:07

สสค.เปิดผลศึกษาเส้นทางชีวิตเด็กไทย พบเด็กไทย 60% เข้าสู่ตลาดแรงงานด้วยวุฒิต่ำกว่าม.6 ขณะที่วิกฤตินักเรียนโรงเรียนขยายโอกาส จบม.3 กว่า 50% แล้วไม่เรียนต่อ ประกาศหนุนโรงเรียนขยายโอกาส หวังอุดช่องโหว่ผ่านการสร้างทักษะชีวิตและอาชีพ
.jpg)
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาสสค. กล่าวว่า สถานการณ์การพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กไทยในภาพรวม พบว่า เด็กและเยาวชนไทยมีความสามารถในการแข่งขันต่ำ จากผลการศึกษาเส้นทางชีวิตเด็กไทย โดยสสค.พบว่า ปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนไทยที่เกิดในรุ่นเดียวกันเฉลี่ยปีละ 900,000 คน/ปี ซึ่งหากเปรียบเทียบเป็นอัตราส่วน 1 ต่อ 90,000 คน จะพบว่าเด็กส่วนใหญ่ 6 ใน 10 คน หรือ 60% จบไม่เกินวุฒิม.6 หรือปวช. ซึ่งในจำนวนนี้มีเด็ก1 คน ที่ไม่จบการศึกษาภาคบังคับ อีก 2.5 คน จบด้วยวุฒิม.3 แล้วไม่เรียนต่อ และอีก 2.5 คน จบด้วยวุฒิม.6หรือปวช.แล้วไม่เรียนต่อ ขณะที่เด็กอีก 4 คนที่เหลือแม้จะเข้าสู่รั้วอุดมศึกษา แต่พบว่า มีเพียง 1 คนเท่านั้นที่จบมาแล้วได้งานทำใน 1 ปีแรก
ดร.อมรวิชช์ กล่าวว่า การผลิตกำลังคนในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยตลาดแรงงานต้องการกำลังคนสายอาชีพ แต่มีการผลิตสายสามัญมากกว่า นอกจากนี้สายอาชีพยังมีสมรรถนะไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ขณะที่แนวโน้มสากลในการพัฒนาคน ทักษะชีวิตและการมีงานทำถือเป็นสิ่งสำคัญของการพัฒนาการศึกษายุคใหม่ที่หลายประเทศให้ความสำคัญ เช่น ทักษะในศตวรรษที่ 21 ซึ่งพบว่าองค์กรภาคเอกชนต่างสะท้อนว่าการผลิตเด็กไทยยังขาดทักษะที่สำคัญด้านการสื่อสารโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ทักษะการทำงานร่วมกันเป็นทีม และวินัยในการทำงาน
ที่ปรึกษาด้านวิชาการสสค. กล่าวว่า การสร้างทักษะชีวิตและการเรียนรู้ด้านทักษะอาชีพถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องสร้างตั้งแต่ระดับประถมและมัธยมต้น ก่อนที่เด็กจะเลือกเส้นทางชีวิตไปสู่สายสามัญหรือสายวิชาชีพ โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในโรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งพบว่ากว่า 50% จบม. 3 แล้วไม่เรียนต่อ สสค.จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ โครงการละ 50,000-100,000 บาท โดยเปิดโอกาสให้โรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งเปิดสอนในระดับประถมและมัธยมต้น ที่มีอยู่กว่า 7,000 แห่ง เสนอโครงการมายังสสค. ตั้งแต่วันนี้ - 31 ตุลาคมนี้ สามารถดูรายละเอียดและดาวน์โหลดแบบฟอร์มการเสนอโครงการได้ที่ www.QLF.or.th
นายสมพงษ์ จิตระดับ ผู้ทรงคุณวุฒิสสค. กล่าวว่า ในกลุ่มของเด็กด้อยโอกาสและโรงเรียนขยายโอกาส ทักษะชีวิตและการมีงานทำเป็นคำตอบและอยู่ในบริบทของโรงเรียนขยายโอกาส เพราะคุณภาพการเรียนรู้ไม่สามารถสู้โรงเรียนมัธยมต้นในตัวเมืองได้ เด็กกลุ่มนี้จึงต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษในเรื่องการศึกษาเพื่ออาชีพ โดยโรงเรียนควรทำงานในรูปแบบทวิภาคีที่เชื่อมโยงกับภาคเอกชน เช่น 7-11 หรือ เอสแอนด์พี เพื่อให้เห็นว่าเด็กเรียนจบแล้วมีงานทำ ดังนั้นหลักสูตรโรงเรียนขยายโอกาสต้องเป็นทวิภาคี โดยเรียนรู้วิชาสามัญ วิชาชีพ และทักษะชีวิต ทั้งในโรงเรียนควบคู่กับตลาดแรงงานจริง
นายสมพงษ์ กล่าวว่า การส่งเสริมการเรียนรู้ให้เกิดทักษะชีวิตและอาชีพตั้งแต่ประถมและมัธยมต้นโดยเฉพาะในโรงเรียนขยายโอกาสยังช่วยให้สัดส่วนการเรียนสายอาชีวะเพิ่มขึ้น เพราะเป็นการส่งเสริมค่านิยมในการเรียนรู้เรื่องอาชีพ ทั้งนี้สิ่งสำคัญคือ การประเมินผลครูและผู้บริหารสถานศึกษาไม่ควรโยงผลคะแนนโอเน็ตเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้โรงเรียนหันไปใส่ใจกับคะแนนโอเน็ต ทำให้เด็กมีทักษะที่จำเป็นลดลง และขวัญกำลังใจของครูและผู้บริหารสถานศึกษาที่ทำเรื่องเหล่านี้ก็น้อยลง
ดาวน์โหลดรายละเอียดโครงการ ได้ที่นี่
ดาวน์โหลดแบบฟอร์มเสนอโครงการ ได้ที่นี่
ดาวน์โหลดโปสเตอร์โครงการ ได้ที่นี่
จำนวนผู้เข้าชม 3087 คน | จำนวนโหวต 0 ครั้ง
Creative Common License Version 3.0
ผลงานนี้ อยู่ภายใต้ สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 ต้นฉบับ.ข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์สสค. อนุญาตให้เผยแพร่และแจกจ่ายโดยเสรี ซึ่งผู้นำไปใช้ไม่จำเป็นต้องติดต่อจากทางสสค. แต่อย่างใด แต่จำเป็นจะต้องอ้างอิงแหล่งที่มาว่ามาจากสสค.
ความคิดเห็น
กรุณาเข้าสู่ระบบก่อนแสดงความคิดเห็น
ท่านที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิก สสค. โลกแห่งการเรียนรู้ออนไลน์รอคุณอยู่ คลิกที่นี่ เพื่อสมัครสมาชิก สสค.